องค์ประกอบและคุณค่าของข่าว

องค์ประกอบของข่าว


                โครงสร้างของข่าวและการใช้ภาษา ข่าวประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน มีลักษณะการใช้ภาษาดังนี้คือ

       1. พาดหัวข่าว (Headline ) การพาดหัวข่าว คือ การนำประเด็นสำคัญของข่าวมาพาดหัวหนังสือพิมพ์ เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยใช้ตัวอักษรตัวใหญ่กว่าธรรมดา ใช้เพียงข้อความสั้นๆ แต่สามารถเสนอสาระสำคัญให้แก่ผู้อ่านได้พิจารณาเลือกอ่านรายละเอียดข่าวที่ตนสนใจได้ ทั้งยังสามารถบอกภาพลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ด้วย

วัตถุประสงค์ของการพาดหัวข่าว  มีดังนี้
               1.ดึงความสนใจของผู้อ่าน ดึงสายตา เปรียบเสมือนตู้โชว์ เมื่อสะดุดตาก็อยากอ่านข่าวต่อ
               2.ให้สาระสำคัญของข่าว ประหยัดเวลา รู้ประเด็นคร่าวๆในทันที
               3.บอกลำดับความสำคัญของข่าว   โดยใช้ขนาดของตัวพิมพ์ที่แตกต่างกัน
               4.ช่วยในการออกแบบจัดหน้า เกิดความหลากหลาย ไม่เรียบหรือเกลี้ยงจนเกินไป
               5.ช่วยสร้างบุคลิกภาพของหนังสือพิมพ์ เช่น การใช้ภาษา ขนาดตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษร เห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็นฉบับไหน

       หลักการเขียนหัวข่าวสิ่งที่ยาก คือ ความสามารถในการเขียนที่ต้องดึงใจความสำคัญลงในเนื้อที่อันจำกัด ด้วยความเร่งรีบ จึงมักให้หัวหน้าข่าว  หรือบรรณาธิการเป็นผู้ทำ ทั้งนี้การพาดหัวข่าวที่ดีควรสั้น กระชับ ได้ใจความ สรุปประเด็นสำคัญของข่าวได้ ครอบคลุมสิ่งที่ผู้อ่านอยากรู้ ให้ความสมบูรณ์เพียงพอ  และควรให้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในข่าว ไม่ใส่ความคิดเห็นหรือเพิ่มความหวือหวามากเกินไป

       เทคนิคการเขียนพาดหัวที่ดี คือ
               1.อ่านความนำ (Lead) ก่อน หรือถ้ามีเวลาพอ ควรอ่านข่าวให้จบด้วย เพื่อให้ทราบรายละเอียดของข่าวทั้งหมดก่อน
               2.เขียนประโยคสั้นๆให้ได้ใจความสำคัญ โดยนำคำหรือข้อความสำคัญในข่าวมาใช้
               3.แบ่งประโยคเป็นหลายๆส่วน ทดลองตัดคำและเรียบเรียงจนได้ใจความรู้เรื่องในเนื้อที่และจำนวนตัวอักษรที่จำกัดอยู่แต่ต้องสามารถสื่อความได้ด้วย


       การนับตัวอักษรในการพาดหัวข่าว นับหน่วยตัวอักษรเป็น "หน่วย"
               -ตัวอักษรตัวบางเล็ก     เช่น  เ-  ไ-  ใ-
               -ตัวอักษร 1 ตัวอักษรปกติ คิดเป็น 1 หน่วย  เช่น  ก ข ค ง รวมทั้งสระบางตัว เช่น  -ะ  แ-  -า
               -ตัวอักษรตัวกว้างคิด   เช่น  ฒ ณ ฌ ญ
               -เครื่องหมายวรรคตอน     เช่น  การเว้นวรรค
   ตัวอย่างเช่น
       - 3 พรรคใหญ่ผนึกกำลัง   
       - ด้วยวันแมนวันโหวต   

       แนวทางในการพาดหัวข่าวผู้สื่อข่าวควรมีการศึกษาและหาประเด็นใหม่ๆเสมอ โดยอาจศึกษาจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้
               1. โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์  เช่น  ขายโรงเรียน ดูว่าน่าสนใจไหม อยากรู้อะไรต่อ ชาวบ้านในท้องถิ่นต้องการรู้อะไรเพิ่ม  เช่น โรงเรียนนี้ทำเลดีแต่ทำไมจึงขาย เพราะขาดทุนจริงหรือ  หรือว่าถูกอิทธิพล  อาจขอสัมภาษณ์เจ้าของ หากมีโอกาสซักถามอาจได้ประเด็นดีๆต่อ
               2. โฆษณาข้างถนน ที่แปลกๆ ใหม่ๆ อาจเป็นจุดเริ่มไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับโฆษณานั้น เช่น   ป้ายบอกทางข้างทางว่าจะสร้างสวนสนุก หรือป้ายโฆษณา "ระวังคนดีกลายพันธุ์"
               3. การอ่านหนังสือทุกชนิด อาจรู้ข้อมูลที่ต้องตามต่อ โดยสังเกตเรื่องดีๆ
               4. ข่าวเป็นจุดกำเนิดของข่าว   ข่าวหรือประเด็นจากสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ทั้งหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง  ท้องถิ่น  ข่าวแจก  แผ่นพับ   เอกสารต่างๆ
               5. วงแถลงข่าว-ประชุม-สัมมนา  ผู้จัดมักมีข้อมูลดีๆมาเสนอเพื่อเผยแพร่ และมักมีบุคคลสำคัญมาร่วมงาน  เปิดโอกาสให้ซักถาม บางประเด็นอาจดูเหมือนไม่น่าสน แต่สามารถตามต่อจนเป็นประเด็นใหญ่ได้
               6. ถ้อยคำจากการสัมภาษณ์ การพูดคุยกับแหล่งข่าวอาจได้ประเด็นใหม่ที่สามารถตามต่อได้

       2. ความนำข่าว (Leads) หรือวรรคนำ  เป็นส่วนที่เขียนขึ้นเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ฟัง และเสนอข้อมูลที่น่าสนใจรองจากหัวข่าว โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงลำดับเวลาที่เกิดขึ้นของข้อเท็จจริง อีกทั้งเป็นส่วนที่เขียนยากที่สุดอีกด้วย ความนำข่าวอาจเขียนได้หลายชนิด แต่ที่นิยมเขียนกันมากและเป็นพื้นฐานทั่วไปของการเขียนข่าว ได้แก่

       2.1. ความนำข่าวแบบสรุป ( summary lead) เป็นการสรุปย่อสาระสำคัญจากข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของข่าว < ใคร ( Who ) ทำอะไร ( What ) ที่ไหน ( Where ) เมื่อไร ( When) เพราะเหตุใดหรือทำไม ( Why ) และอย่างไร ( How ) > หรือที่เรียกว่า 5 W's + H
       การเขียนความนำ ( Lead) ข่าววิทยุกระจายเสียง อาจไม่สามารถตอบคำถามทั้ง 6 คำถามให้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไมได้ทั้งหมด เนื่องจากผู้ฟังส่วนใหญ่จะไม่สามารถรับข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็วได้ทันที ดังนั้นจึงต้องคัดเลือกองค์ประกอบของข่าวที่สำคัญที่สุด เพียง 2 หรือ 3 องค์ประกอบ ในหนึ่งข่าวเพื่อเสนอในความนำ เช่นเกิดอะไรขึ้นที่ไหน มีผลอย่างไร คำถามใดสำคัญที่สุด มีหลักการดังนี้
               (1) ประเด็นหลักหรือหัวใจของเรื่องนี้คืออะไร ข้อเท็จจริงใดสำคัญที่สุด
               (2) เกิดอะไรขึ้น มีการกระทำ หรือคำพูดใดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของเรื่อง
               (3) อะไรคือความคืบหน้าล่าสุดของเรื่องดังกล่าว
               (4) ข้อเท็จจริงใด มีผลกระทบ หรือสามารถเรียกร้องความสนใจของผู้ฟังได้
               (5) ข้อเท็จจริงใดที่ผิดปกติธรรมดา

       จากการพิจารณาคำถามต่างๆในเบื้องต้น การเขียนความนำโดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท
               1. ความนำ " ใคร " (Who Lead) คือความนำซึ่งบุคคลหรือนิติบุคคลมีคุณค่าในข่าว ในด้านความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้ฟังทั่วไป หรืออาจมีอาชีพ เพศ อายุ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่มีความเด่น
ตัวอย่าง
       - นายกรัฐมนตรี ระบุ สถานการณ์ภาคใต้ดีขึ้น แม้จะมีฝ่ายก่อกวนอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าหากรัฐบาลใช้หลักเมตตาธรรม ต่อไปสถานการณ์จะคลี่คลายได้ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 15 พ.ค. 47)
       - นายกรัฐมนตรี มั่นใจ แนวโน้มการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ มีทิศทางที่ดีขึ้น หลังเยาวชนที่หลงผิด กลับใจมาเข้ากับทางการ เพิ่มมากขึ้น จะเห็นว่าความนำข่าวข้างต้น เป็นความนำที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วไป ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ (สำนักข่าว ไอเอ็นเอ็น 15 พ.ค. 47)
               2. ความนำ " อะไร " (What Lead) คือความนำของข่าวที่บอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือกำลังจะเกิดมีความสำคัญขึ้น  และน่าสนใจกว่าข้อมูลที่ว่าใครเกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ
ตัวอย่าง
       - ประมูลหมายเลขทะเบียนรถ ที่กรมการขนส่งทางบกวันนี้ เป็นไปด้วยความคึกคัก หมายเลขทะเบียน ษท 9999 มีราคาสูงสุด 1 ล้าน 5 แสนบาท (สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)
       - ฝนตกดินถล่ม ส่งผลเกิดอุบัติเหตุรถทัวร์ประสานงานสิบล้อและกระบะ คนเจ็บเกือบ 10 ราย ( สำนักข่าว ไอเอ็นเอ็น 15 พ.ค. 47)
               3. ความนำ " ที่ไหน " (Where Lead ) คือ ความนำที่สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆมีคุณค่าข่าวสูงเป็นที่น่าสนใจของผู้ฟัง
ตัวอย่าง
       - รัฐสภาป่วน!โทรศัพท์ลึกลับข่มขู่สร้างสถานการณ์เหมือนภาคใต้ ช่วงอภิปราย " วันนอร์ " ด้าน " ธานี " ปฏิเสธเสียงแข็งทุกอย่างปกติ แค่มาตรวจเยี่ยมเท่านั้น (ผู้จัดการออนไลน์ศุกร์ที่ 21 พ.ค. 47)
               4. ความนำ " เมื่อไร "(When Lead) เป็นความนำซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับเวลาที่เกิดขึ้นของเหตุการณ์ มีความสำคัญมากกว่าข้อมูลอื่น
ตัวอย่าง
       - วันนี้ เวลา 17.50 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยหม่อมศรีรัตน์ มหิดล ณ อยุธยา จากวังศุโขทัย ไปทรงประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ (จำลอง) ณ อาคาร มหาเจษฎาบดินทร์ วัดยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิเดินทางถึงเกาหลีเหนือแล้วในวันนี้ ( 22) โดยมีเป้าหมายเพื่อหารือเรื่องชาวญี่ปุ่นที่ ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ผู้จัดการออนไลน์ 22 พ.ค. 47)
               5. ความนำ " ทำไม " (Why Lead) เป็นความนำซึ่งข้อมูลที่เป็นเหตุจูงใจ หรือสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีคุณค่าข่าวสูง และเป็นข้อมูลที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ดีกว่าข้อมูลอื่นๆ
ตัวอย่าง
       - กระแสก่อการร้ายที่กำลังคุกคามไปทั่วโลก ได้จุดประกายให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ป้องกันภัย และระบบข้อมูลข่าวสาร เพื่อป้องกันความเสียหายที่ จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินสาธารณะและส่วนตัว
               6. ความนำ " อย่างไร " (How Lead) เป็นความนำซึ่งมีข้อมูลรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ผลกระทบต่อผู้ฟัง ความแปลกประหลาด ภัยพิบัติและความก้าวหน้า ซึ่งมีคุณค่าของข่าวสูง สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง ที่ต้องการทรายรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น
ตัวอย่าง
       - รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โทนี แบลร์ และสมาชิกสภาต้องอพยพออกจากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อมีมือดีสาดผงเพนท์บอลเข้ามานั้นถูกไหล่ของผู้นำอังกฤษ เมื่อวันพุธ( 19 พ.ค. 47) ที่ผ่านมา
       2.2. ความนำแบบพรรณาหรือสร้างภาพพจน์ ( Narrative or Picture or Colorful Lead) การนำประเภทนี้ใช้กับเหตุการณ์ประเภทที่มีสีสันหรืออารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอาจจะบรรยายหรื่อพรรณาให้ผู้ฟังได้รับรู้เหตุการณ์เสมือนว่าได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นด้วย การเขียนประเภทนี้ผู้เขียนต้องมีความสามารถทางภาษาในระดับสูง จึงจะสามารถเลือกใช้คำที่จะทำให้ผู้ฟังได้เห็นภาพได้
       2.3. ความนำแบบอ้างคำพูดหรืออัญพจน์ ( Quote or Quotation Lead) ความนำประเภทนี้ เป็นความนำที่อ้างคำพูดของบุคคลในข่าวมาขึ้นต้น โดยข้อความนั้นต้องเป็นข้อความที่สำคัญ อาจจะเป็นประโยคยาวหรือข้อความสั้นๆก็ได้ แต่ต้องไม่ยาวจนเกินไป
       2.4. ความนำแบบเผ็ดร้อน (Punch Lead) เป็นความนำที่ใช้กับเรื่องหนัก จริงจัง ความนำประเภทนี้จะใช้คำที่มีความหมายหนักแน่น ที่ตรงกับลีลาและน้ำหนักของเรื่อง
       2.5. ความนำแบบเปรียบเทียบ (Contrast Lead) ความนำประเภทนี้เหมาะที่จะใช้กับข่าวที่มีองค์ประกอบด้านความขัดแย้งมาขึ้นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวการเมือง ที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหานโยบายหรือสังคม มากกว่า 2 ฝ่ายขึ้นไป และเป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติแน่นอน         
       2.6. ความนำแบบคำถาม (Question Lead) ความนำแบบนี้ เริ่มด้วยคำถามตามด้วยคำตอบหรือแนวทางที่จะหาคำตอบให้แก่คำถามดังกล่าว เหมาะที่จะใช้กับรายงานข่าวเบาๆ สนุกสนาน หรือขบขัน
       2.7. ความนำแบบให้ภูมิหลัง (Background Lead) เป็นความนำที่ใช้กับรายงานเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องมาจากอดีต แล้วเริ่มคลี่คลาย หรือมีความคืบหน้าสมควรแก่การรายงานข่าวให้ผู้ฟังได้ทราบ และเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจที่มาหรือความเดิมของเรื่องจึงต้องเติม "ภูมิหลัง" ไว้ในความนำด้วย
       2.8. ความนำแบบหลักการ ("None of the Above" Lead) หมายถึงความนำแปลกใหม่ที่ไม่มีหลักการที่กล่าวมาข้างต้น การเขียนความนำประเภทนี้ ไม่มีข้อจำกัดตายตัว สามารถพลิกแพลงได้ตามเหตุการณ์ที่ต้องการนำเสนอ เพื่อดึงดูดความสนใจ และเปลี่ยนแปลงบรรยากาศให้เหมาะสมกับลีลาของเรื่อง ซึ่งผู้ฟังจะได้รับความสนุกสนาน ความทึ่ง เร้าใจ พร้อมๆกับข่าวสารที่เราต้องการนำเสนอด้วย
     
       สำหรับการเขียนความนำข่าววิทยุกระจายเสียงที่ดี จากหลักการในการเขียนความนำพื้นฐาน ความนำพิเศษหรือความนำเบาที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนควรยึด หลักการเขียนความนำข่าวที่ดี ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
               (1) ต้องกระชับ (Be Concise) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้น โดยมีความยาวไม่เกิน 2-3 บรรทัดพิมพ์ ถ้าเกินกว่าถือว่ายาวไป ควรตรวจสอบใหม่และตัดคำหรือข้อความที่ซ้ำซาก และรายละเอียดบางอย่างไว้ในย่อหน้าต่อไป ความนำควรรายงานเฉพาะจุดเด่น หรือ (Highlight) ของเรื่อง เฉพาะที่สำคัญ เพื่อแสดงความคิดของตัวเองให้กระชับที่สุด
               (2) มีความชัดเจน เฉพาะเจาะจง (Be Specific) ที่มีรายละเอียดที่น่าสนใจและเฉพาะเจาะจง ชัดเจน ทำให้ผู้ฟังนึกถึงภาพเหตุการณ์ หรือสามารถจินตนาการถึงภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
               (3) ใช้คำที่มีความหมายหนักแน่น (Strong Words) ซึ่งการใช้คำเพียงคำเดียว สามารถเปลี่ยนแปลงความนำธรรมดาให้เป็นความนำที่น่าสนใจ หรือเร้าความสนใจของผู้ฟัง และอาจสร้างความตื่นเต้นมีสรสันหรือภาพพจน์ให้เกิดขึ้นได้
               (4) เน้นถึงความสำคัญของข่าว เช่นการระบุรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ตามข้อเท็จจริง
               (5) ควรเน้นเรื่องที่ไม่ปกติ (Unusual) หรือสิ่งที่คาดไม่ถึง ไม่คาดฝัน ที่มีความสำคัญหรือมีแนวโน้มว่า จะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต และสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้
               (6) เกี่ยวข้องกับผู้ฟัง รวมทั้งระบุบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ที่ผู้ฟังคุ้นเคย
               (7) ความนำที่ดีที่สุดต้องเข้าใจง่ายและตรงประเด็น (To the Point) เพื่อให้ผู้ฟังจับใจความได้เร็ว ไม่ต้องรอฟังเนื้อหาข่าวโดยละเอียด       
                    
       3. ส่วนเชื่อมความนำข่าวกับเนื้อเรื่อง (Neck) มีลักษณะเป็นข้อความสั้นๆ ที่เชื่อมระหว่างความนำข่าวกับเนื้อเรื่อง เพื่อให้การเขียนข่าวนั้นเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
       4. เนื้อเรื่องหรือเนื้อข่าว (Body) คือ ส่วนที่อธิบายหรือขยายรายละเอียดของส่วนประกอบอื่นๆ ข้างต้นเพื่อให้ผู้อ่านทราบเรื่องราวและเข้าใจลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน วิธีการเขียนข่าวสามารถแบ่งได้ดังนี้
               4.1  การเขียนเนื้อเรื่องข่าวที่เสนอข้อเท็จจริง จะใช้ถ้อยคำกระชับรัดกุม ตรงไปตรงมา เสนอเฉพาะข้อเท็จจริงโดยใช้วิธีบรรยายโวหาร ระดับภาษาตั้งแต่กึ่งทางการถึงระดับทางการ
               4.2  การเขียนเนื้อเรื่องข่าวที่แสดงความเคลื่อนไหว  ผู้เขียนต้องสร้างภาพโดยใช้ถ้อยคำพรรณนาให้เห็นภาพเหตุการณ์อย่างชัดเจน เน้นที่คำกริยา เพิ่มคำแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้เขียน เข้าไปในรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย ข้อควรระวังคือ ผู้เขียนไม่ควรสร้างภาพเกินความจริง
               4.3  การเขียนเนื้อเรื่องข่าวที่เป็นคำพูด ข้อความส่วนหนึ่งจะเป็นถ้อยคำที่เป็นความคิดเห็นของผู้ให้สัมภาษณ์หรือแหล่งข่าว ผู้เขียนจะใช้ถ้อยคำกระชับรัดกุม ภาษาง่ายๆ สื่อความหมายตรงไปตรงมา อาจจะมีถ้อยคำแสดงความรู้สึก อารมณ์ของผู้ให้สัมภาษณ์ปรากฏอยู่ด้วย

       สำหรับความแตกต่างของการเขียนข่าววิทยุและข่าวหนังสือพิมพ์ คือ เนื้อหาของข่าววิทยุโดยทั่วไปจะสั้นกว่าเนื้อหาข่าวในหนังสือพิมพ์ เป็นข้อมูลข่าวทั้งหมดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข่าว โดยจะเป็นส่วนขยายหรือให้รายละเอียดเพิ่มเติมกับข่าว ที่กล่าวถึงไปแล้วในความนำ และเพิ่มข้อมูลข่าวที่ไม่ได้กล่าวถึงในความนำ เนื่องจากอาจมีความสำคัญไม่มากนักการเขียนเนื้อหาข่าววิทยุ เป็นการเขียนข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวรวบรวมมาได้ทั้งหมด เพื่ออธิบายหรือขยายรายละเอียด ข้อความ หรือประเด็นที่กล่าวไว้แล้วในวรรคนำ หรือเพิ่มเติมข้อเท็จจริง ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงเลยในวรรคนำ ตามลำดับความสำคัญ ไม่ควรเขียนข้อความยืดยาวติดต่อกัน แต่ควรแบ่งเป็นหลายย่อหน้า เพื่อให้ผู้อ่านข่าวมีความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องราวที่จะ นำเสนอได้ง่ายขึ้น และเพื่อความสะดวกแก่บรรณาธิการข่าว ในกรณีมีปัญหาเรื่องของเวลาที่ข่าวที่เตรียมไว้อาจยาวเกินไป บรรณาธิการผู้ควบคุมรายการข่าว จะสามารถเลือกตัดออก ได้ทั้งย่อหน้า

                                                    ***************************************
                                                              คุณค่าของข่าว

  - ความน่าสนใจของข่าวยิ่งมีมากเท่าใด คุณค่าข่าวยิ่งมีสูงมากเท่านั้น
   - ผู้อ่านหรือผู้รับข่าวสาร หมายความว่า ข่าวต้องเป็นที่น่าสนใจของประชาชนในวงกว้าง
   - เหตุการณ์ หรือข้อเท็จจริง หมายความว่า ข่าวต้องมาจากเหตุการณ์ สถาณการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่สามารถนำมาเสนอเป็นข่าวได้ทั้งหมด ต้องดูประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอเท่านั้น
    ทั้งนี้ องค์ประกอบทั้ง 3ประการนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กัน โดยเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อผู้อ่านหรือผู้รับข่าวสารมากที่สุด จึงนำมาซึ่งการรายงานข่าวได้

   สำหรับเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใดเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่านหรือผู้รับสารนั้น สุภา ศิริมานนท์ อดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ได้สรุปความน่าสนใจของข่าวมี 9 ประเภท คือ
       1.        การต่อสู้ (Struggle)
       2.        ชีวิตซึ่งราวกับนิยาย (Romance)
       3.         ความลึกลับ (Mystery)
       4.        การผจญภัย (Adventure)
       5.        ความผิดปกติ (Unusualness)
       6.        ความเป็นมนุษย์ (Human being)
       7.        เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ (Animals)
       8.        เรื่องเกี่ยวกับเด็ก (Children)
       9.        ความบันเทิง / งานอดิเรก (Amusement and Hobbies)

   จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน และแต่ละเหตุการณ์มีความน่าสนใจที่แตกต่างกัน การที่สื่อมวลชนจะนำมาเสนอเป็นข่าวทุกข่าวนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจำนวนพื้นบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีจำกัด  และสื่อมวลชนประเภทอื่น อย่าง วิทยุ หนังสือพิมพ์ ก็มีเวลาจำกัดเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการคัดเลือกข่าวจากเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงองค์ประกอบของข่าวว่ามีเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใดมีคุณค่าทางข่าวสูง จะได้พิจารณานำมารายงานเป็นข่าวต่อไป

   คุณค่าของข่าวขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

  1. ความสดต่อสมัย (Timeliness)
       นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการนำเสนอข่าว เพราะผู้อ่านมักให้ความสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ หรือเรื่องราวที่ทันสมัย ดังคำกล่าวที่ว่า "ข่าวต้องสดเหมือนปลา"

  2. ความใกล้ชิด (Proximity/nearness)
       หมายถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

  3. ความเด่น (Prominence)
       หมายถึงบุคคลสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งอาจรวมถึงสถานที่สำคัญ วัตถุอันล้ำค่า ฯลฯ

  4. ความแปลกประหลาด (Oddity / Unusualness)
       เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างผิดปกติหรือผิดวิสัยในสังคม เหตุการณ์นั้นย่อมก่อให้เกิดความสนใจและมีคุณค่าทางข่าวสูง หนังสือพิมพ์ให้ความสำคัญแก่องค์ประกอบนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยในการเสนอข่าว เพราะถูกปิดกั้นเสรีภาพของหนังสือพิมพ์จึงมักใช้ความแปลกประหลาดมาเสนอเป็นข่าว เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศที่ตึงเครียดให้ผ่อนคลายลงได้ชั่วระยะหนึ่ง

   5. ผลกระทบกระเทือน (Consequence)
       ข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมากมักได้รับการพิจารณาที่จะเสนอเป็นข่าวมากกว่า ข่าวที่ว่านี้อาจเป็นผลกระทบกระเทือนทาง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

  6. ความขัดแย้ง (Conflict)
       ความขัดแย้งย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป อาจเป็นความขัดแย้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

   7. ความมีเงื่อนงำ (Suspense/Mystery)
       บางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจมีเบื้องหลังลึกลับซับซ้อน หนังสือพิมพ์จึงมักให้ความสนใจขุดคุ้ยและนำมาตีแผ่เสนอเป็นข่าวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน เพราะผู้อ่านให้ความสนใจ

   8. ปุถุชนสนใจ (Human Interest)
        ข่าวที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ส่วนใหญ่มักเป็นข่าวอาชญากรรมที่ผู้อ่านสนใจอยากรู้สาเหตุที่แท้จริงเนื่องมาจากอะไร

   9. เพศ (Sex)
       ธรรมชาติของมนุษย์มักให้ความสนใจเกี่ยวกับเพศ ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ หรือความผิดปกติทางเพศ

   10. ความขบขัน (Amusement)
        ข่าวขบขันอาจจะเกิดจากการกระทำของตลกเองหรือ จากเหตุการณ์อื่นๆที่ผู้อ่านเห็นแล้วเกิดอารมณ์ผ่อนคลาย

   11. ความเปลี่ยนแปลง (Change)
       สังคมมนุษย์ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาจเป็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

   12. ความก้าวหน้า (Progress)
       เกิดขึ้นจากการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี





ความคิดเห็น